Solar_cell

แผงโซลาร์เซลล์ กองขยะพลังงานในอนาคต

ตอนนี้กระแสพลังงานทางเลือกกำลังมาแรงมาก ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย นั่นทำให้การขยายตัวของแผลโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนทำให้หลายคนเริ่มเป็นห่วงกันแล้วว่า เจ้าแผงโซลาร์เซลล์จะกลายเป็นขยะอันตรายตัวใหม่ของประเทศไทย

รักษาสิ่งแวดล้อมแต่ทำลายสิ่งแวดล้อม

จะว่าไปแล้ว เทคโนโลยีแผงโซลาร์เซลล์นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมประการหนึ่ง มันถูกสร้างขึ้นเพื่อทำเป็นพลังงานสะอาดทดแทนการใช้พลังงานถ่านหิน ฟอสซิล และน้ำมัน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อนิจจาสิ่งนี้กลับกลายเป็นตลกร้ายของการรักษาสิ่งแวดล้อมไปแล้ว เนื่องจากการขยายตัวค่อนข้างมากและยังไม่มีการกำจัดที่แน่นอน เลยทำให้เจ้าสิ่งนี้อาจจะรักษาสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ แต่ทำลายสิ่งแวดล้อมในอนาคตก็เป็นได้

การกำจัดที่ยังไม่มีผลสมบูรณ์

ต้องบอกว่า เจ้าโซลาร์เซลล์นั้นอาจจะกลายเป็นขยะอันตรายในอนาคตก็เพราะว่า เรายังไม่มีวิธีการกำจัดเจ้าแผงโซลาร์เซลล์แบบถูกต้องเลย ปัจจุบันเราเลือกที่จะใช้วิธีการฝังกลบเพื่อย่อยสลาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะย่อยสลายได้มากแค่ไหนและใช้เวลาเท่าไร ปัจจุบันเราจะใช้จัดการโดย หนึ่งคัดแยกด้วยมือ สองจับไปรีไซเคิล สามบดและคัดแยกเพื่อนำสารไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ก็ยังมีสารเคมีเหลือคืนสู่ธรรมชาติอยู่ดี ก็ได้แต่หวังว่าจะมีการคิดค้นวิธีการกำจัดและย่อยสลายได้แบบสมบูรณ์ในอนาคตข้างหน้า

ขยะไม่ได้มีแต่แผงโซลาร์

ไม่ได้มีแต่แผงโซลาร์เซลล์อย่างเดียวเท่านั้นที่อาจจะกลายเป็นขยะอันตราย แต่อุปกรณ์อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็รอคอยเป็นขยะอันตรายเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น อินเวอร์เตอร์ หม้อแปลง และแบตเตอรี่ ซึ่งของเหล่านี้ล้วนประกอบไปด้วยสารเคมีอันตรายทั้งนั้น จะต้องมีการกำจัดอย่างเป็นระบบไม่งั้นมันก็จะกลายเป็นอันตรายย้อนกลับมาหาตัวเราเองนั่นแหละ

รีไซเคิล คำตอบสุดท้าย

การป้องกันไม่ให้เกิดขยะแผงโซลาร์เซลล์ล้นประเทศ รวมถึงขยะที่เกี่ยวข้องด้วยได้นั้น มาตรการอย่างแรกต้องเป็นเรื่องการควบคุมปริมาณไม่ให้มีมากเกินไป จนไม่สามารถจัดการได้ กับสองผู้ผลิตต้องมีการวิจัย และรับผิดชอบขยะที่เกิดขึ้นจากแผงโซลาร์เซลล์เหล่านั้นด้วย (ใครขายก็รับซื้อคืน) เพื่อตรวจสอบต้นทาง ปลายทางให้ถูกต้อง มาตรการสำคัญสุดนั่นคือ ผู้ผลิตต้องมีการรีไซเคิลของเหล่านั้น ให้กลับมาใช้ได้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้แผงโซลาร์เซลล์ใช้ได้อีกครั้ง(ลดการใช้สารเคมีในการสร้างแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ด้วย) เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง หวังว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า เราจะไม่ได้เห็นกองขยะแผงโซลาร์เซลล์จนทำลายสิ่งแวดล้อมบ้านเราไปนะ